โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย

      เกาะสมุย เป็นเกาะที่ตั้งอยู่บริเวณอ่าวไทย ห่างจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปทางทิศตะวันออก เป็นระยะทาง 84 กิโลเมตร พื้นที่ 1 ใน 3 ของเกาะเป็นที่ราบรอบล้อมไปด้วยภูเขาในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงคลื่นลมสงบ จึงเหมาะแก่การท่องเที่ยวมากที่สุด โดยเกาะสมุยเป็นเกาะที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างขนานนามให้เกาะสมุยว่าเป็น “สวรรค์กลางอ่าวไทย” เนื่องจากเกาะสมุยมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่น สวยงาม มีเสน่ห์แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม อาทิ น้ำทะเลใสบริสุทธิ์ หาดทรายขาวทอดขนานไปกับทิวต้นมะพร้าวริมชายหาด และนอกจากธรรมชาติชายทะเลแล้ว ยังมีน้ำตกที่น้ำใสเย็นเกือบตลอดทั้งปี มีแหล่งท่องเที่ยวที่แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมของชาวท้องถิ่น เช่น วัดสำเร็จ วัดละไม วัดพระใหญ่ เจดีย์แหลมสอ ฯลฯ นอกจากนี้เกาะสมุยยังเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจากเกาะภูเก็ต มีประชากรประมาณ 69,000 คน มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 2.6 ล้านคนต่อปี

    เกาะสมุย เป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้” ตามแผนยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ในปัจจุบันสามารถเดินทางได้เพียงทางอากาศและทางน้ำ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านปริมาณและจำนวนเที่ยวในการให้บริการ ส่งผลกระทบต่อความสะดวกสบายในการเดินทาง และกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของเกาะสมุย นอกจากนี้ หากมีกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินที่ต้องเดินทางมายังจังหวัดสุราษฎร์ธานีหรือจังหวัดนครศรีธรรมราชในกรณีที่จำเป็นเร่งด่วน จะไม่สามารถเดินทางได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้ามรสุมที่ไม่สามารถเดินทางด้วยเรือได้ ดังนั้น การมีสะพานเชื่อมข้ามเกาะสมุยจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัย ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมทั้งช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น

     รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงได้มีนโยบายให้กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้การพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โครงการทางหลวงชนบท และโครงการทางพิเศษในอนาคตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมต่อประเทศ และประชาชนผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก ปลอดภัย ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อให้การบูรณาการการพัฒนานวัตกรรม การบริหารจัดการแบบ Single Command การเชื่อมโยงข้อมูลและการแก้ไขปัญหาการจราจรโครงข่ายทางถนนดังกล่าวเป็นไปด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการบูรณาการการพัฒนานวัตกรรมและโครงข่ายทางถนนร่วมกันระหว่าง ทล. ทช. และ กทพ. เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 โดยขอบเขตความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงฯ ได้ระบุไว่าว่า ข้อที่ 1.1 4) โครงข่ายทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุยของ ทช. ทั้งสองฝั่ายตกลงให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย

  

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเพื่อดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน  ผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก ปลอดภัย ในการเดินทางสู่เกาะสมุยได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางไปยังเกาะสมุย และส่งเสริมการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น โดยมีกรอบการดำเนินงาน

       

สถานะโครงการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ลงนามจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสม ด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 ระยะเวลาดำเนินการศึกษา 24 เดือน ก่อนขออนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และขออนุมัติดำเนินโครงการต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี พ.ศ.2571 และเปิดให้บริการปลายปี พ.ศ. 2573